
โลหะหนัก คือ กลุ่มของแร่ธาตุที่มีน้ำหนักโมเลกุลมาก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม [1] สารหนู ฯลฯ สารเหล่านี้หากตกค้างในร่างกายจะส่งผลให้เกิดความเป็นพิษใน 2 รูปแบบ คือ
-
ชนิดพิษเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการได้รับสารในปริมาณมาก ร่างกายจะแสดงอาการในทันที เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดหัว มีผื่นแพ้ขึ้นตามร่างกาย ฯลฯ และมีโอกาสเสียชีวิต
-
ชนิดพิษเรื้อรั้ง เกิดจากการสั่งสมสารพิษเป็นเวลานาน จัดเป็นภัยเงียบหรือตายผ่อนส่งอีกรูปแบบหนึ่ง
โลหะหนักมักปนเปื้อนอยู่ในภาชนะต่าง ๆ รวมถึงอาหารที่รับประทานเข้าไปทั้งพืชและสัตว์ เช่น เครื่องครัว ปลาทะเล ข้าวสาร น้ำมันตับปลา เครื่องสำอาง ฯลฯ แต่ร่างกายมีกระบวนการในการกำจัดสารพิษเหล่านี้ โดยในเซลล์ลำไส้และเซลล์ตับ ซึ่งทำหน้าที่กำจัดสารพิษ (ดีท็อกซิฟิเคชัน (Detoxification)) 2 กระบวนการคือ
เฟสวัน (Phase 1) คือ การเข้าไปสลายสารพิษ
เฟสทู (Phase 2) คือ การทำให้สารพิษละลายน้ำ แล้วขับออกทางปัสสาวะหรืออุจจาระ
แต่การกำจัดสารพิษในแต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นกับอายุ วัย และประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย สารอาหารจากธรรมชาติจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการลดหรือล้างความเป็นพิษจากโลหะหนักได้ ดังนี้
-
เพกทิน (Pectin) เป็นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ พบมากในแอปเปิล กล้วย และกะหล่ำปลี
-
คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) พบมากในผักใบเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน
-
อัลฟาไลโปอิก แอซิด (Alpha Lipoic Acid) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) พบมากในผักปวยเล้ง (ผักชนิดนี้ไม่แนะนำให้กินแบบสด เพราะมีสารบางชนิดที่ทำให้เสี่ยงเป็นนิ่วได้ ต้องผ่านความร้อนเสียก่อน) กระเจี้ยบเขียว บลอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกลูต้าไธโอน (Glutathione) [2] ได้เพิ่มขึ้น
-
อัลลิซิน (Allicin) ที่อยู่ในกระเทียม [3] ช่วยขับล้างพิษปรอท ตะกั่ว แคดเมียม โดยกำมะถัน (ซัลเฟอร์ (Sulfur)) ที่มีอยู่ในกระเทียม เป็นตัวช่วยในการสังเคราะห์กลูต้าไธโอนในร่างกายให้ไปกำจัดสารพิษ
-
จินเจอรอล (Gingerol) พบมากในขิง
-
เคอร์คิวมิน (Curcumin) พบมากในขมิ้นชัน
-
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็ก ซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี พบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ
สำหรับปริมาณการกินผัก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในหนึ่งวันควรกินให้ได้อย่างน้อย 400 กรัม (5 กำมือหรือ 6 ทัพพี) หากกินไม่ถึงสามารถเสริมเติมด้วยผลไม้ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิล กล้วย แก้วมังกร มะละกอ สับปะรด แตงโม ฯลฯ โดยให้เลี่ยงหรือเว้นผลไม้รสหวาน อร่อยก็จริงแต่เสี่ยงน้ำตาลในเลือดสูง และยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคในกลุ่ม NCDs [4] อีกด้วย
----------------------------------------------------------
[1] หากได้รับสารแคดเดียม ร่างกายต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีในการกำจัดออก โดยกำจัดได้เพียงครึ่งหนึ่งที่ร่างกายได้รับเท่านั้น หากต้องการกำจัดออกให้หมด ต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่านั้นขึ้นไปอีก
[2] หน้าที่หลักของกลูต้าไธโอน คือ ช่วยกำจัดสารพิษ โดยทำให้สารพิษละลายน้ำแล้วถูกขับออกทางปัสสาวะ ส่วนการทำให้ผิวกระจ่างใสเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
[3] คนที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หากกินกระเทียมในปริมาณมาก จะทำให้เลือดหยุดไหลได้ยากขึ้น
[4] โรค NCDs (non-communicable diseases) เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยจะเป็นอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอาการของโรคก็มักจะเกิดการเรื้อรังด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคไต โรคตับ โรคสมองเสื่อม โรคอ้วนลงพุง รวมถึงโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
ข้อมูลโดย
-
ผศ. ดร.เอกราช บำรุงพืช | ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธรุกิจบัณฑิตย์
-
Bumrungrad International Hospital | Bangkok Thailand
เรียบเรียงโดย เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์
ฟังรายการได้ทาง